นิยามของสิ่งมีชีวิตอย่างที่เรารู้จักบนโลก
สิ่งมีชีวิตคืออะไร
สิ่งมีชีวิตและสิ่งไม่มีชีวิตมีความแตกต่างกันอย่างไร สิ่งมีชีวิตบนโลกมีหลายรูปแบบ
(life form) นับตั้งแต่ แบคทีเรีย ซึ่งเป็นสิ่งมีชีวิตเซลล์เดียวมีโครงสร้างอย่างง่ายๆ
จนกระทั่งสิ่งมีชีวิตชั้นสูง เช่น มนุษย์ เป็นสัตว์หลายเซลล์มีโครงสร้างที่สลับซับซ้อน
อย่างไรก็ดีสิ่งมีชีวิตทุกอย่างบนโลกย่อมมีคุณสมบัติที่แตกต่างไปจากสิ่งไม่มีชีวิต
ดังนี้
ข้อจำกัดทางอายุขัย สิ่งมีชีวิตดำรงอยู่เป็นวัฏจักร
มีวัย อายุขัย และวงรอบชีวิตที่แน่นอน เช่น ยุงมีอายุขัย 7 วัน
มนุษย์มีอายุขัยประมาณ 80 ปี ส่วนสิ่งไม่มีชีวิต เช่น ก้อนหินจะสิ้นอายุขัยตราบเมื่อผุพังหรือสึกกร่อน
เปลวไฟมีอายุตราบเท่าที่มีเชื้อเพลิงหล่อเลี้ยง สิ่งไม่มีชีวิตไม่มีกำหนดอายุขัยเป็นคาบเวลาที่แน่นอน
การสืบพันธุ์ เนื่องจากสิ่งมีชีวิตทุกชนิดมีอายุขัยจำกัดเป็นคาบเวลา
ดังนั้นจึงจำเป็นต้องสืบพันธุ์เพื่อจะดำรงเผ่าพันธุ์ของตัวเองไว้
การสืบพันธุ์จำเป็นต้องมีความสามารถในการคัดลอกคุณสมบัติของตัวเอง
เช่น ลูกคนก็ต้องเป็นคน ลูกสุนัขก็ต้องเป็นสุนัข
วิวัฒนาการ สิ่งมีชีวิตมีความประสงค์ที่จะคงเผ่าพันธุ์ของตัวเองไว้
ดังนั้นจึงต้องมีความสามารถในการปรับตัวเองให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนไป
โดยที่การคัดลอกตัวเองในการสืบพันธุ์นั้น จะมีการกลายพันธุ์ทีละเล็กน้อยอย่างช้าๆ
ในระยะเวลาที่ยาวนาน เช่น นกวิวัฒนาการมาจากไดโนเสาร์
โครงสร้างร่างกาย ในการดำรงชีวิตและสืบพันธุ์
สิ่งมีชีวิตจำเป็นจะต้องมี ร่างกาย พลังงาน และชุดคำสั่งทางพันธุกรรม
เพื่อสั่งให้เซลล์แต่ละเซลล์ทำงาน นั่นหมายความว่า ชีวิตเป็นทั้งสสาร
พลังงาน และข่าวสาร
กระบวนการเผาผลาญอาหาร สิ่งมีชีวิตไม่สามารถดำรงอยู่ได้โดยปราศจากการปฏิสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมภายนอก
ร่างกายต้องการวัตถุดิบเพื่อสร้างโครงสร้างและพลังงาน โดยอาศัยกระบวนการเผาผลาญอาหาร
(Metabolic process) ซึ่งปลดปล่อยผลผลิตและสิ่งเหลือใช้ กลับคืนสู่สิ่งแวดล้อม
เซลล์ (Cell)
สิ่งมีชีวิตบนโลกมีโครงสร้างหลักเป็นคาร์บอนและน้ำ
ซึ่งหากพิจารณาเทียบกับองค์ประกอบทางเคมีของเปลือกโลกในตารางที่
1 แล้ว จะเห็นว่าร่างกายมนุษย์มีองค์ประกอบทางเคมีคล้ายกับเปลือกโลก
นั่นหมายความว่า สิ่งมีชีวิตนำธาตุที่มีอยู่ในสิ่งแวดล้อมบนเปลือกโลก
มาสร้างเป็นร่างกายนั่นเอง
ตารางที่ 1 ธาตุในระบบชีวภาพ (หน่วยที่ใช้เป็น จำนวน n
: 100,000 อะตอม)
ธาตุ |
เลขอะตอม |
เปลือกโลก |
มหาสมุทร |
ร่างกายมนุษย์ |
ไฮโดรเจน
(H) |
1 |
2,882 |
66,200 |
60,562 |
คาร์บอน
(C) |
6 |
56 |
1.4 |
10,680 |
ไนโตรเจน
(N) |
7 |
7 |
<1 |
2,440 |
ออกซิเจน (O) |
8 |
60,425 |
33,100 |
25,670 |
โซเดียม
(Na) |
11 |
2,554 |
290 |
75 |
แมกนีเซียม
(Mg) |
12 |
1,784 |
34 |
11 |
ฟอสฟอรัส
(P) |
15 |
79 |
<1 |
130 |
กำมะถัน
(S) |
16 |
33 |
17 |
130 |
คลอรีน
(Cl) |
17 |
11 |
340 |
33 |
โปแตสเซียม
(K) |
19 |
1,374 |
6 |
37 |
แคลเซียม
(Ca) |
20 |
1,878 |
6 |
230 |
เซลล์เป็นโครงสร้างพื้นฐานของสิ่งมีชีวิตทุกชนิด เซลล์ของสิ่งมีชีวิตบนโลกประกอบด้วยธาตุหลัก
4 ธาตุ คือ ไฮโดรเจน ออกซิเจน ไนโตรเจน และคาร์บอน ซึ่งเป็นธาตุเบาที่มีอยู่ทั่วไปบนโลกและในจักรวาล
นอกจากนั้นเซลล์ยังใช้ฟอสฟอรัสและกำมะถัน ในการสร้างวัสดุโครงสร้างของเซลล์
และกระบวนการเผาผลาญอาหารเพื่อสร้างพลังงาน ธาตุทั้งหกนี้พบทั่วไปในสารอินทรีย์ของเซลล์
โดยประกอบกันเป็นโมเลกุล ดังนี้
น้ำ เป็นองค์ประกอบหลักของเซลล์ มีอยู่ประมาณร้อยละ
70 ของน้ำหนักเซลล์ทั้งหมด
ไขมัน (Lipids) มีโครงสร้างเป็นไฮโดรคาร์บอน
ไม่ละลายน้ำ เป็นองค์ประกอบหลักของเนื้อเยื้อต่างๆ และมีหน้าที่เก็บสะสมพลังงานเคมี
คาร์โบไฮเดรต (Carbohydrate) มีโครงสร้างเป็นไฮโดรคาร์บอนเช่นเดียวกับไขมัน
แต่มีกลุ่มไฮดรอกซิล (-OH) ซึ่งมีคุณสมบัติในการละลายน้ำ ประกอบด้วยวงแหวนโมเลกุลของน้ำตาล
ซึ่งเมื่อแตกตัวแล้วให้พลังงานออกมา
โปรตีน (Protein) เป็นโมเลกุลที่มีความสลับซับซ้อนมากที่สุด
ประกอบขึ้นด้วยกรดอะมิโน (Amino acid) หลายชนิดเรียงต่อกันเป็นสายยาวสลับซับซ้อน
คอยทำหน้าที่ต่างๆ ภายในเซลล์ นับตั้งแต่ควบคุมปฏิกิริยาเคมีไปจนถึงเป็นโครงสร้างของร่างกาย
ได้แก่ โปรตีนโครงสร้าง เช่น ขน เล็บ เอ็น; โปรตีนขนส่ง เช่น เฮโมโกลบิน
ในเม็ดเลือด; โปรตีนภูมิคุ้มกัน เช่น แอนติบอดี; โปรตีนเร่งปฏิกิริยา
เช่น เอนไซม์ เป็นต้น (สิ่งชีวิตสร้างโปรตีนมากมายหลายพันชนิด
ขึ้นจากกรดอะมิโนเพียง 20 ชนิด)

ภาพที่ 1 โครงสร้างโปรตีนซึ่งประกอบด้วยโมเลกุลของกรดอะมิโนชนิดต่างๆ
เรียงต่อกัน
กรดนิวคลีอิก (Nucleic acid) เป็นโมเลกุลที่ใหญ่ที่สุดในเซลล์
เป็นแหล่งรวบรวมข้อมูลคำสั่ง ซึ่งระบุหน้าที่การทำงานของเซลล์
รวมถึงการถ่ายทอดทางพันธุกรรมด้วย กรดนิวคลีอิกมี 2 ชนิดคือ DNA
และ RNA
o DNA ย่อมาจาก Deoxyribonucleic acid หรือ กรดดีออกซีไรโบนิวคลีอิก เป็นโมเลกุลสายคู่ มีหน้าที่สะสมข้อมูลพันธุกรรมของสิ่งมีชีวิต
ซึ่งสามารถสืบทอดมรดก (ชุดคำสั่ง) จากรุ่นหนึ่งไปสู่รุ่นหนึ่ง
o RNA ย่อมาจาก Ribonucleic acid หรือ กรดไรโบนิวคลีอิก เป็นโมเลกุลสายเดี่ยว มีหน้าที่จำลองรหัสพันธุกรรมของ
DNA เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติ โดยการสังเคราะห์โปรตีน ถ่ายทอดชุดคำสั่งไปยังเซลล์ตัวอื่นต่อไป

ภาพที่ 2 ตัวอย่างโครงสร้างโมเลกุลของสารอินทรีย์
ส่วนประกอบของเซลล์
เซลล์ส่วนใหญ่ประกอบด้วยของเหลวใสคล้ายวุ้นที่เรียกว่า ไซโทพลาสซึม (Cytoplasm) ซึ่งห่อหุ้มด้วยเยื่อบางๆ
(Membrane) ที่ยอมให้สารบางชนิดผ่านเข้าออกได้ ภายในเซลล์บรรจุ โครโมโซม (Chromosome) ซึ่งเป็นที่รวบรวมของชุดข้อมูลที่จำเป็นสำหรับการทำงานของเซลล์
โครโมโซมทำหน้าที่ถ่ายทอดรหัสพันธุกรรมใน DNA ไปสู่เซลล์รุ่นถัดไป
นอกจากนั้นภายในเซลล์ยังมี ไรโบโซม (Ribosome) ซึ่งมีหน้าที่ถอดรหัสพันธุกรรมจาก DNA เพื่อคัดเลือกกรดอะมิโนชนิดต่างๆ
สร้างเป็นโปรตีนชนิดต่างๆ เซลล์บางชนิดอยู่กับที่ เซลล์บางชนิดเคลื่อนที่ได้ด้วยการโบกสะบัดหางยาวที่ยื่นออกมาเรียกว่า แฟลเจลลัม (Flagellum) ดังที่แสดงในภาพที่ 3

ภาพที่ 3 โครงสร้างเซลล์
โพรคาริโอต
(Prokaryote) เป็นเซลล์ขนาดเล็กที่ไม่มีนิวเคลียส อุบัติขึ้นบนโลกในรูปของแบคทีเรียเมื่อ
3.5 ล้านปีก่อน ส่วนยูคาริโอต (Eukaryote) เป็นเซลล์ขนาดใหญ่มีโครงสร้างสลับซับซ้อน
อุบัติขึ้นบนโลกเมื่อ 2.5 ล้านปีก่อน ยูคาริโอต มีโครโมโซมจำนวนหลายชุดบรรจุอยู่ในนิวเคลียส
ภายนอกนิวเคลียสยังมี ออร์แกเนลล์ (Organelle) หรือโครงสร้างเล็กๆ ซึ่งทำหน้าที่จำเพาะต่างหากอีก ได้แก่
คลอโรพลาสต์ (Chloroplast) ทำหน้าที่สังเคราะห์อาหารด้วยแสงอาทิตย์
ไมโทคอนเดรียน (Mitochondrion) ทำหน้าที่หายใจนำออกซิเจนมาย่อยสลายอาหารให้เกิดพลังงาน
โกลจิบอดี (Golgi body) ทำหน้าที่สะสมผลผลิตไว้เป็นพลังงานออกมา
สัตว์และพืช เป็นสิ่งมีชีวิตที่ประกอบด้วยเซลล์มากมายหลายล้านเซลล์
ประกอบกันเป็นอวัยวะต่างๆ และทำงานร่วมกันเป็นระบบที่ใหญ่และสลับซับซ้อน
เซลล์ของพืชต่างจากเซลล์ของสัตว์ตรงที่มีผนังเซลล์ที่แข็งแรง และมีคลอโรพลาสซึ่งเป็นโครงสร้างสีเขียวบรรจุคลอโรฟิลล์ไว้เพื่อจับพลังงานจากดวงอาทิตย์
เพื่อสร้างอาหารจากน้ำและคาร์บอนไดออกไซด์ โดยอาศัยกระบวนการสังเคราะห์ด้วยแสง
(Photosynthesis)
พันธุกรรม (Gene)
พันธุกรรม
หรือ ยีน หมายถึง การส่งทอดข้อมูลข่าวสารของเซลล์ จากรุ่นหนึ่งไปอีกรุ่นหนึ่งโดยผ่านโครโมโซม
สิ่งมีชีวิตชนิดต่างๆ มีจำนวนโครโมโซมบรรจุอยู่ในเซลล์เป็นจำนวนเฉพาะไม่เหมือนกัน
เช่น เซลล์ของมนุษย์มี 46 โครโมโซม เซลล์ของลิงซิมแปนซีมี 48 โครโมโซม
เซลล์ของต้นสนมี 22 โครโมโซม ส่วนเซลล์ของปลาทองมีถึง 94 โครโมโซม
โครโมโซมเป็นที่รวบรวมของข้อมูลภาษาทางพันธุกรรม หรือ ยีน ซึ่งเก็บรวบรวมไว้เป็นรหัส
ซึ่งเขียนขึ้นด้วยกรดนิวคลีอิค เรียงต่อกันเป็นคำและประโยค

ภาพที่ 4 การแบ่งเซลล์แบบไมโทซิส
ในขณะที่สิ่งมีชีวิตมีอายุมากขึ้น
ร่างกายก็จะเติบโตใหญ่ขึ้น เซลล์ของมันยังคงมีขนาดคงเดิม แต่จะเพิ่มจำนวนมากขึ้นโดยการแบ่งตัว
และเพิ่มจำนวนมากขึ้น การแบ่งตัวที่ทำให้เกิดเซลล์สองเซลล์ที่เหมือนกัน
เราเรียกว่า ไมโทซิส (Mitosis) ภาพที่ 4 แสดงให้เห็นขั้นตอนของการแบ่งเซลล์แบบไมโทซิส
ดังนี้ (1) โครโมโซมภายในนิวเคลียสเริ่มหดตัวสั้นและหนาขึ้น (2)
จับตัวเป็นคู่ๆ เป็นรูปตัว X (3) โครโมโซมเรียงตัวเป็นเส้นตรง
(4) เซลล์เริ่มขยายตัวทำให้โครโมโซมแยกตัวออกสองข้าง (5) เซลล์สร้างผนังแบ่งเป็น
2 นิวเคลียส (6) เซลล์แยกตัวออกเป็น 2 เซลล์โดยอิสระ การแบ่งตัวแบบนี้ทำให้เซลล์ที่เกิดขึ้นใหม่
มีคุณสมบัติเหมือนกันทุกประการ

ภาพที่ 5 โครโมโซมของมนุษย์ (เพศหญิง)
ในการสืบทอดพันธุกรรมด้วยเพศ
จะมีการแบ่งตัวชนิดพิเศษอีกรูปแบบหนึ่ง ซึ่งทำให้เซลล์ที่เกิดใหม่มีความแตกต่างกัน
เราเรียกว่า ไมโอซิส (Meiosis) ภาพที่ 5 แสดงให้เห็นถึงโครโมโซมของมนุษย์จำนวน 23 คู่ เรียงตามขนาดใหญ่ไปเล็ก
โครโมโซมคู่ที่ XX เป็นโครโมโซมพิเศษซึ่งบ่งบอกถึงความเป็นเพศหญิง
สเปิร์มซึ่งอยู่ในอัณฑะของเพศผู้ และไข่ซึ่งอยู่ในรังไข่ของเพศเมีย
จัดเป็น เซลล์เพศ (Sex cell) ถือเป็นเซลล์พิเศษ
เมื่อเกิดการปฏิสนธิ สเปิร์มของเพศผู้เข้าไปอยู่ในนิวเคลียสในไข่ของเพศเมีย
ทำให้เซลล์ไข่มีโครโมโซมครบ 46 ตัว (ในกรณีของมนุษย์)

ภาพที่ 6 การแบ่งเซลล์แบบไมโอซิส (อาศัยเพศ)
ภาพที่
6 แสดงให้เห็นขั้นตอนการแบ่งตัวแบบไมโอซิส ดังนี้ (1) โครโมโซมภายในนิวเคลียสเริ่มหดตัวสั้นและหนาขึ้น (2) จับตัวเป็นคู่ๆ เป็นรูปตัว X (3) โครโมโซมจับคู่ประกบกันแลกเปลี่ยนรหัสพันธุกรรม (4) แต่ละคู่แยกตัวจากกัน (5) เซลล์เริ่มขยายตัวออก (6) เซลล์สร้างผนังแบ่งเป็น 2 นิวเคลียส (7) เซลล์แยกตัวออกเป็น 2 เซลล์โดยอิสระ (8) เซลล์เริ่มขยายตัวทำให้โครโมโซมแยกตัวออกสองข้าง (9) เซลล์สร้างผนังแบ่งเป็น 2 นิวเคลียส (10) เซลล์แยกตัวออกเป็น 4 เซลล์โดยอิสระ การแบ่งตัวแบบนี้ทำให้เซลล์ที่เกิดขึ้นใหม่แต่ละเซลล์
มีคุณสมบัติเฉพาะตัว ซึ่งแตกต่างไปจากเซลล์ต้นกำเนิด นี่เป็นสาเหตุทำให้ตัวเรามีความแตกต่างและคล้ายคลึงกับบรรพบุรุษ
รหัสพันธุกรรม
(Genetic code)
โครโมโซม
ประกอบขึ้นด้วยโมเลกุลของกรดดีออกซีไรโบนิวคลีอิก หรือ DNA ซึ่งเป็นโมเลกุลสายคู่บิดเป็นเกลียวต่อเนื่องดังที่แสดงในภาพที่
7 แสดงถึงโครงสร้างโมเลกุลของ DNA ซึ่งประกอบขึ้นด้วยกลุ่มโมเลกุลย่อยของกรดนิวคลีอิกที่เรียกว่า
นิวคลีโอไทด์ (Nucleotide) แต่ละนิวคลีโอไทด์ประกอบด้วยหน่วยย่อย
3 หน่วย คือ น้ำตาลไรโบส 5 อะตอมคาร์บอน [R] อยู่ตรงกลาง ปลายข้างหนึ่งต่อเชื่อมกับ
กลุ่มฟอสเฟต [P] โดยมีปลายอีกข้างหนึ่งต่อเชื่อมกรดนิวคลีอิกที่ฐานไนโตรจีเนียส
[B] ซึ่งมีด้วยกัน 4 ชนิดคือ อะดีนิน (A), ไทมิน (T), กัวนิน (G)
และไซโทซิน (C) หากนำโครโมโซม (ในเซลล์มนุษย์) หนึ่งเส้นมายืดออก
จะได้ระยะทางประมาณ 2-3 เมตร ซึ่งมีฐานไนโตรจีเนียสประมาณ 3 ล้านฐาน

ภาพที่ 7 โครงสร้าง DNA
เนื่องจากโครงสร้างของ
DNA ซึ่งเป็นโมเลกุลสายคู่ (Double helix) นิวคลีโอไทด์ซึ่งอยู่คู่กันจึงเชื่อมต่อกันที่ฐานไนโตรจีเนียสโดยมีข้อแม้ว่า
A คู่กับ T และ C คู่กับ G เท่านั้น ดังนั้นลักษณะของการจับคู่ฐานจึงมีเพียง
4 รูปแบบ เท่านั้น คือ {A-T}, {T-A}, {C-G} และ {G-C} เท่านั้น
นี่คือตัวอักษรในรหัสพันธุกรรม ภาษาพันธุกรรมมีความคล้ายคลึงกับภาษามนุษย์
คำ ที่ใช้ในรหัสพันธุกรรมเรียกว่า โคดอน (Codon) หนึ่งโคดอนประกอบด้วย
กลุ่มลำดับฐาน ซึ่งอ่านครั้งละ 3 ตัวอักษร เช่น [{A-T}, {C-G},
{T-A}] ดังตัวอย่างในภาพที่ 8 ดังนั้นกลุ่มของลำดับฐานจึงมี 64
กลุ่ม ที่แตกต่างกัน ถ้อยคำเหล่านี้จัดเรียงต่อกันคำต่อคำ เป็นประโยคข้อมูลตลอดความยาวของสาย
DNA

ภาพที่ 8 รหัสพันธุ์กรรม 1 โคดอน
เมื่อเซลล์เกิดการแบ่งตัว
สายดีเอ็นเอจะจำลองแบบตัวเอง (Replication) โดยการถอดซิปตัวเองออก
คลายฐานไนโตรจีนัส เพื่อให้โมเลกุลของกรดนิวคลีอิกคัดลอกแบบตัวเอง
จนเกิดสายโมเลกุลใหม่อีก 2 เส้น ซึ่งเหมือนกันทุกประการ ประกบกันเป็น
สายเก่า-ใหม่ จำนวน 3 คู่ ดังภาพที่ 9

ภาพที่ 9 การจำลองแบบ DNA
ในการทำงานของร่างกาย
เซลล์จะต้องถอดรหัสพันธุกรรม เพื่อนำข้อมูลข่าวสารจาก DNA ไปสู่ปฏิบัติ
โดยมีผลลัพธ์เป็นการสังเคราะห์โปรตีนชนิดต่างๆ จากโมเลกุลของกรดอะมิโนหลายชนิด
(ภาพที่ 10) เมื่อการถอดรหัสเริ่มขึ้น เอนไซม์ (โปรตีนเร่งปฏิกิริยา)
จะเปิดสายโมเลกุลเกลียวคู่ให้แยกจากกันตามจุดที่ต้องการ เอนไซม์อีกชนิดหนึ่งจะสร้างสาย เมสเซนเจอร์ อาร์เอ็นเอ (messenger RNA) หรือ mRNA เข้าไปประกบคู่กับ สาย DNA ข้างหนึ่ง โดยการเชื่อมฐานนิวโตรจีเนียสเข้าด้วยกัน
แต่ฐานใน RNA มีเพียง A, C, G, ไม่มี T (ไทมิน) แต่มี U (ยูราซิล)
แทน เมื่อ mRNA ทำการคัดลอกข้อมูลจาก DNA เสร็จแล้ว จะเดินทางผ่านผนังนิวเคลียสออกมา
จากนั้นไรโบโซมซึ่งมี RNA อีกชนิดหนึ่งซึ่งบรรจุอยู่ภายในเรียกว่า ทรานสเฟอร์อาร์เอ็นเอ (transfer RNA) หรือ tRNA จะเคลื่อนตัวไปตามสาย mRNA เพื่อแปลรหัสพันธุกรรมทีละ
1 โคดอน หรือ 3 ตัวอักษร เช่น [{A-U}, {U-A}, {C-G}] ข้อมูลจาก
nRNA เป็นคำสั่งการให้ tRNA คัดเลือกโมเลกุลของกรดอะมิโนทั้ง 20
ชนิด เรียงลำดับให้ถูกต้องเพื่อสังเคราะห์โปรตีนชนิดที่ต้องการ
เมื่อไรโบโซมเคลื่อนที่มาถึงรหัสที่บอกว่า หยุด ก็จะได้สายโปรตีนโมเลกุลที่สมบูรณ์
และหลุดออกไปจากไรโบโซม เพื่อทำหน้าที่ๆ เซลล์ต้องการ ต่อไป

ภาพที่ 10 การทำงานของ RNA