ดาวเสาร์ (Saturn)


ภาพที่ 1 ดาวเสาร์

         ดาวเสาร์เป็นดาวเคราะห์ที่รู้จักกันมาตั้งแต่ก่อนยุคประวัติศาสตร์ กาลิเลโอได้ใช้กล้องส่องทางไกล สังเกตดาวเสาร์เป็นครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ. 2153 และพบลักษณะที่เป็นวงรี คล้ายกับเป็นดาวเคราะห์ที่มีหูสองข้าง จนกระทั่งในปี พ.ศ.2202  คริสเตียน ฮอยเกนส์ พบว่าเป็นวงแหวนของดาวเสาร์ เป็นที่เชื่อกันว่าดาวเสาร์เป็นดาวเคราะห์เพียงดวงเดียว ในระบบสุริยะ ที่มีวงแหวน จนกระทั่งเมื่อไม่กี่สิบปีมานี้เอง ที่ได้มีการค้นพบวงแหวนบางๆ รอบดาวยูเรนัส ดาวพฤหัสบดี และดาวเนปจูน

          ดาวเสาร์ถูกเยี่ยมเยือนครั้งแรกโดย ยานไพโอเนียร์ 11 ในปี พ.ศ.2522  ตามด้วย วอยเอเจอร์ 1 วอยเอเจอร์ 2  และยานแคสสินีในปี พ.ศ.2547

          ดาวเสาร์มีองค์ประกอบคล้ายกับดาวพฤหัสบดีคือ ประกอบไปด้วย ไฮโดรเจน 75% ฮีเลียม 25% ปะปนไปด้วยน้ำ มีเทน แอมโมเนีย เพียงเล็กน้อย โครงสร้างภายในของดาวเสาร์ มีลักษณะคล้ายคลึงกับของดาวพฤหัสบดี ซึ่งมีแกนกลางที่เป็นหินแข็ง ห่อหุ้มด้วยแมนเทิลชั้นใน ที่เป็นโลหะไฮโดรเจน และแมนเทิลชั้นนอกที่เป็น ไฮโดรเจน และฮีเลียมเหลว

          แถบที่มีความเข้มต่างๆ กันที่ปรากฏบนดาวเสาร์ เกิดจากการหมุนรอบตัวเองที่เร็วมากของดาว ทำให้เกิดการหมุนวนของชั้นบรรยากาศ ที่มีอุณภูมิแตกต่างกัน จึงปรากฏเป็นแถบเข้มและจาง สลับกันไป

วงแหวนดาวเสาร
          จากภาพวงแหวนดาวเสาร์ ดูคล้ายกับว่าจะมีลักษณะเป็นแผ่น แท้ที่จริงแล้วประกอบด้วยอนุภาคจำนวนมหาศาล ซึ่งมีวงโคจรอิสระ และมีขนาดตั้งแต่เซนติเมตร ไปจนหลายร้อยเมตร ส่วนใหญ่จะประกอบด้วยน้ำแข็ง ปะปนอยู่กับเศษหินเคลือบน้ำแข็ง วงแหวนของดาวเสาร์นั้นบางมาก แม้จะมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางยาวถึง 250,000 กิโลเมตร แต่มีความหนาไม่ถึง 1.5 กิโลเมตร   วงแหวนแต่ละชั้นมีชื่อเรียกตามอักษรภาษาอังกฤษ เช่น วงแหวนสว่าง (A และ B) และวงสลัว (C) สามารถมองเห็นได้จากโลก ช่องระหว่างวงแหวน A และ B รู้จักในนาม "ช่องแคบแคสสินี" (Cassini division )  เรายังไม่ทราบถึง ต้นกำเนิดของวงแหวนดาวเสาร์ และบริวารเล็กๆ แม้ว่าจะมีวงแหวนมาตั้งแต่การฟอร์มตัว ของดาวเคราะห์ในยุคเริ่มแรก แต่ระบบของวงแหวนขาดเสถียรภาพ และเปลี่ยนแปลงไปตามกระบวนการรอบๆ ข้าง บางทีมันอาจกำเนิดจากการแตกสลายของบริวารที่มีขนาดใหญ่กว่า

ดวงจันทร์บริวารของดาวเสาร์
          ดาวเสาร์มีดวงจันทร์บริวารอย่างน้อย 30 ดวง ดวงจันทร์บริวารที่มีขนาดใหญ่ที่สุดคือ "ไททัน" (Titan) มีขนาดใหญ่หว่าดาวพุธ  ไททันมีชั้นบรรยากาศที่ประกอบด้วย ก๊าซไนโตรเจนเป็นส่วนใหญ่ คล้ายคลึงกับชั้นบรรยากาศของโลก ดังนั้นนักดาราศาสตร์จึงสนใจที่จะศึกษาดวงจันทร์ไททันอย่างละเอียด เพื่อที่จะได้นำมาเปรียบเทียบกับโลก
ดวงจันทร์บริวารที่มีขนาดรองจากไททันได้แก่ รี ดิโอนี ไออาเพตุส เททิส เอนเซลาดุส และ มิมาส ซึ่งส่วนใหญ่ประกอบด้วย น้ำแข็งและมีหินผสมอยู่เล็กน้อย