กล้องส่องทางไกลชนิดสองตา

         กล้องส่องทางไกลชนิดสองตา (Binocular) มีหลักการเช่นเดียวกับกล้องโทรทรรศน์ กล่าวคือ ประกอบด้วยเลนส์จำนวน 2 ชุด คือ เลนส์วัตถุ และ เลนส์ตา โดยใส่ปริซึมไว้ภายใน เพื่อหักเหลำแสง ทำให้ลำกล้องสั้นลง และให้ภาพหัวตั้งตามปกติ ขนาดของกล้องจะประกอบด้วยตัวเลข 2 จำนวน ได้แก่ 8x40, 7x50 หรือ 10x25 เป็นต้น จำนวนแรกหมายถึง "กำลังขยาย" จำนวนหลังหมายถึง "ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางของเลนส์วัตถุ ซึ่งมีหน่วยเป็นมิลลิเมตร"

แบบพอร์โร-ปริซึม (Porro-Prism) 
แบบรูฟ - ปริซึม (Roof-Prism)

การเลือกขนาดและกำลังขยายของกล้อง ขึ้นอยู่กับการใช้งาน
          เดินทางไกลและไต่เขา: ควรเลือกกล้องที่มีขนาดเล็ก น้ำหนักเบา พกพาง่าย หรือกันน้ำ ได้แก่ 8x24 หรือ 10x25
          ดูนก: ควรเลือกกล้องที่มีกำลังรวมแสงพอสมควร กำลังขยายปานกลาง น้ำหนักไม่มากนัก เพื่อให้ภาพไม่สั่นไหว หรือเมื่อย เมื่อยกนานๆ   ขนาดที่เหมาะสมควรจะเป็น 8x40 หรือ 8x42
          
ดูดาว: เทห์วัตถุท้องฟ้าส่วนใหญ่ มีความสว่างไม่มาก ดังนั้นกล้องส่องทางไกลที่ใช้งานด้านนี้ ควรมีเลนส์วัตถุที่มีขนาด 50 มิลลิเมตรขึ้นไป เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการรวมแสง   แต่ถ้ากล้องมีขนาดใหญ่ และน้ำหนักมาก ต้องติดตั้งไว้บนขาตั้งกล้อง

 

อายรีลีฟยาว
อายรีลีฟสั้น

ระยะระหว่างดวงตากับเลนส์

          ในการใช้กล้องส่องทางไกล จะสังเกตได้ว่า หากเราถือกล้องไว้ห่างจากดวงตามากเกินไป เราจะมองไม่เห็นภาพทั้งหมดในกล้อง ขอบของภาพจะเบรอ จนกว่าเราจะขยับกล้องให้ใกล้กับดวงตามากขึ้น จึงจะเห็นภาพชัดเจนทั้งหมดจนถึงขอบ ระยะห่างระหว่างเลนส์ตากับดวงตา ซึ่งทำให้มองเห็นภาพทั้งหมดในกล้อง ได้ชัดเจนจนถึงขอบนี้ เราเรียกว่า "อายรีลีฟ" (Eye relief)    กล้องสองตาโดยทั่วไปมักมีอายรีลีฟประมาณ 8-14 มิลลิเมตร ซึ่งสั้นเกินไปผู้สวมใส่แว่นสายตา ดังนั้นหากท่านมีความประสงค์จะใช้กล้องสองตาโดยไม่ต้องถอดแว่นออกเลย ควรเลือกกล้องที่มีอายรีลีฟยาวกว่า 17 มิลลิเมตรขึ้นไป ยิ่งมากยิ่งดี ค่า "อายรีลีฟ" จะแปรผกผันกับ "กำลังขยาย" นั่นคือ กล้องกำลังขยายสูงจะมีอายรีลีฟสั้น ส่วนกล้องกำลังขยายต่ำจะมีอายรีลีฟยาวกว่า ดังนั้นกล้องกำลังขยายสูงที่มีอายรีลีฟยาว จึงมีราคาแพงมาก เนื่องจากต้องออกแบบเป็นพิเศษ