กิจกรรม การทดสอบกฏการเคลื่อนที่ของนิวตัน


ระดับชั้นเรียน: ประถมศึกษาขึ้นไป

กำหนดเวลา: 1 - 2 ชั่วโมง

วัตถุประสงค์: ให้นักเรียนมีความเข้าใจพื้นฐานเกี่ยวกับ กฎการเคลื่อนที่ของนิวตัน

อุปกรณ์:
          1. รถของเล่น 2 คัน
          2. เชือกไนลอน 2 เส้น
          3. ตุ้มถ่วงน้ำหนัก 3 ก้อน
          4. ไม้บรรทัด
          5. เทปใส
          6. ท่อร้อยสายไฟ ยาว 1 ฟุต

การจัดเตรียมอุปกรณ์การทดลอง
          1. วางท่อที่ขอบโต๊ะ แล้วยึดด้วยเทปใสเพื่อลดแรงเสียดทานระหว่างพื้นกับเชือก
          2. นำเชือกทั้ง 2 เส้น ผูกเข้ากับด้านหน้าของรถทั้งสองคัน
          3. นำส่วนปลายเชือกอีกด้านของทั้งสองเส้น ผูกเข้ากับตุ้มน้ำหนัก
          4. วางเชือกให้คาดอยู่บนด้ามปากกาขอบโต๊ะ ดังรูป

หลักการ :
          กฎข้อที่ 1 กฎแห่งความเฉื่อย “วัตถุที่หยุดนิ่งจะพยายามหยุดนิ่งอยู่กับที่ ตราบที่ไม่มีแรงภายนอกมากระทำ ส่วนวัตถุที่เคลื่อนที่จะเคลื่อนที่เป็นเส้นตรงด้วยความเร็วคงที่ ตราบที่ไม่มีแรงภายนอกมากระทำเช่นกัน“
          กฎข้อที่ 2 กฎของแรง “ความเร่งของวัตถุจะแปรผันตามแรงที่กระทำต่อวัตถุ แต่จะแปรผกผัน
กับมวลของวัตถุ”

F = ma

          กำหนดให้
                     F = แรงที่มากระทำกับวัตถุ
                    m = มวลของวัตถุ
                     a = ความเร่งของวัตถุ

การดำเนินกิจกรรม:

          แบ่งนักเรียนออกเป็นกลุ่มๆ ละเท่าๆ กันตามความเหมาะสม แจกอุปกรณ์ให้นักเรียนแต่ละกลุ่มช่วยกันจัดเตรียมอุปกรณ์การทดลอง ดังต่อไปนี้

ตอนที่ 1 กฎแห่งความเฉื่อย

วิธีการทดลอง
          1. นำรถของเล่นวางบนโต๊ะ นำตุ้มน้ำหนักวางบนรถ ดังรูป แล้วใช้ไม้บรรทัดตีให้รถเคลื่อนที่ด้วยความรวดเร็ว สังเกตการเคลื่อนที่ของตุ้มน้ำหนัก บันทึกผลการทดลอง
          2. นำรถของเล่นวางบนโต๊ะ วางตุ้มน้ำหนักบนรถ ดังรูป แล้วผลักให้รถวิ่งไปพร้อมกับตุ้มน้ำหนัก โดยใช้ไม้บรรทัดกันให้รถหยุดกระทันหัน สังเกตการเคลื่อนที่ของตุ้มน้ำหนัก บันทึกผลการทดลอง

ตอนที่ 2 กฎของแรง

วิธีการทดลอง
          1. ผูกเชือกกับรถของเล่นและตุ้มน้ำหนักวางบนโต๊ะ แล้วใช้ไม้บรรทัดกันเอาไว้ ดังรูป
          2. นำไม้บรรทัดที่กันออก สังเกตการเคลื่อนที่ของรถทดลองทั้ง 2 คัน บันทึกผลการทดลอง
          3. ทำการทดลองซ้ำข้อ 1 โดยเพิ่มตุ้มน้ำหนัก ให้รถอีกคันหนึ่งดังรูป
          4. นำไม้บรรทัดที่กั้นออก สังเกตการเปลี่ยนแปลงของการเคลื่อนที่ของรถทั้งสอง บันทึกผลการทดลอง

สรุปการทำกิจกรรม:
           หลังจากที่นักเรียนได้เรียนรู้และสนุกกับการทดลองแล้ว ให้นักเรียนสรุปผลการทดลอง และส่งตัวแทนออกมานำเสนอทีละกลุ่ม และช่วยกันสรุปผลการทดลองอีกครั้ง